Press Release

สทน.ได้ทำพิธีเปิดอาคารและเดินเครื่องฉายรังสีอิเล็กตรอนณศูนย์ฉายรังสีเทคโนธานีจังหวัดปทุมธานี

27 August 2020
เมื่อ 21 สิงหาคม 2563 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือสทน.ได้ทำพิธีเปิดอาคารและเดินเครื่องฉายรังสีอิเล็กตรอน  ณ  ศูนย์ฉายรังสีเทคโนธานี  จังหวัดปทุมธานี  โดยมีรศ.นายแพทย์  สรนิต  ศิลธรรม  ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม  เป็นประธานในพิธี  พร้อมผู้บริหารจาก  อว.  และ  สทน.  ประกอบด้วย  รศ.ดร.จักษ์  พันธ์ชูเพชร  ที่ปรึกษารมว.อว., ดร.ทวีศักดิ์  กออนันตกูล  ประธานกรรมการบริหาร  สทน.  นายสำราญ  รอดเพชร  ผู้ช่วยรมว.อว.  และ  รศ.ดร.ธวัชชัย  อ่อนจันทร์  ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

            รศ.ดร.  ธวัชชัย  อ่อนจันทร์  ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ  (องค์การมหาชน)  เปิดเผยว่า  สทน.ได้ดำเนิน  “โครงการเพิ่มศักยภาพการฉายรังสีผลิตผลการเกษตรเพื่อการส่งออกด้วยเครื่องเร่งอนุภาค”  โดย  สทน.  ได้รับงบประมาณ 605,300,000 บาทสำหรับจัดหาเครื่องฉายรังสีอิเล็กตรอนพร้อมอาคาร  ขนาดของโรงงานฉายรังสีอิเล็กตรอนมีพื้นที่ 12,000 ตร.ม.ซึ่งเป็นโรงงานฉายรังสีที่ผลิตรังสีจากพลังงานไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้ทั้งลำอิเล็กตรอน  (Electron beam)  และรังสีเอ็กซ์ (x-ray)  ซึ่งจะให้พลังงานอิเล็กตรอนไม่เกิน 10 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์  ให้รังสีเอ็กซ์พลังงาน 5 ล้านอิเล็กตรอนโวลต์  เพื่อเพิ่มศักยภาพการฉายรังสีสินค้าทางการเกษตรให้ได้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดต่างประเทศและในประเทศ  และได้มาตรฐานเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศเรื่องการนำเข้าผลิตผลการเกษตรฉายรังสี  

            สำหรับประสิทธิภาพของเครื่องฉายรังสี  สามารถให้บริการฉายรังสีได้ทั้งเครื่องมือแพทย์ผลิตภัณฑ์สมุนไพร  ผลไม้สด  ได้ในปริมาณที่มากขึ้นในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น  สำหรับผลที่ได้จากโครงการนอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการฉายรังสีสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกแล้ว  ยังช่วยลดปริมาณการสั่งซื้อต้นกำเนิดรังสีโคบอลต์-60  ในโรงฉายรังสีแกมมาซึ่งมีราคาสูงขึ้นทุกปี  ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายย่อยที่ดำเนินกิจการค้าขายอาหารและผลิตภัณฑ์ฉายรังสี  รวมทั้งสมุนไพรรักษาโรคพื้นบ้านผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ฉายรังสี  โรงงานฉายรังสีแห่งใหม่นี้จะเป็นโรงงานต้นแบบและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชน  ทั้งในระดับอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการรายย่อย  ขณะนี้อยู่ในช่วงทดลองการเดินเครื่อง  คาดว่าจะเริ่มให้บริการฉายรังสีในเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2564 นี้  เมื่อเดินเครื่องฉายรังสีอิเล็กตรอนอย่างเต็มกำลังแล้ว  จะสามารถฉายรังสีผลิตภัณฑ์ต่างๆ  ในระดับพลังงานต่ำสุดได้สูงสุด 230 ตัน/ชั่วโมง  และศูนย์ฉายรังสีของ  สทน.  จะสามารถฉายรังสีได้ครบทุกประเภทรังสีที่ได้รับอนุญาตในประเทศไทยและคาดว่าจะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศปีละมากกว่า 5,000 ล้านบาท