ข่าวประชาสัมพันธ์

สทน. ระดมทีมนักวิจัย ยกระดับผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเพิ่มศักยภาพในการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ด้วยเทคโนโลยี “การฉายรังสี” พร้อมเตรียมคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพสูงสุด เป็นสุดยอดอาหารพื้นถิ่น หรือ “Product Champion” ภาคเหนือ

1 มีนาคม 2566

สทน. ระดมทีมนักวิจัย ยกระดับผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเพิ่มศักยภาพในการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ด้วยเทคโนโลยี “การฉายรังสี”


                   พร้อมเตรียมคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพสูงสุด เป็นสุดยอดอาหารพื้นถิ่นหรือ   Product Champion” ภาคเหนือ!ในวันที่   20   วัน ที่ 22   และวันที่  24   กุมภาพันธ์   2566   สทน. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ตามลำดับ โดยผู้อำนวยการ สทน. ได้มอบหมายให้พลเรือตรีวัชระ การุณยวนิช รองผู้อำนวยการ สทน. เป็นประธานเปิดกิจกรรมการเสวนา และเวทีให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการภาคเหนือ ภายใต้โครงการ “พัฒนาอาหารพื้นถิ่นสู่มาตรฐานสากล เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุมชนด้วยเทคโนโลยีฉายรังสี” ที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อให้ผู้ประกอบการหรือผู้สนใจได้เห็นแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการฉายรังสี ในการสร้างความเข้มแข็งทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้ โดยผู้ประกอบการที่สมัครเข้าโครงการทั้งหมดได้เข้ารับคำปรึกษาแนะนำเป็นรายผลิตภัณฑ์ กับทีมนักวิจัยจาก สทน. เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการผลิตด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสี


                 โดยมี สทน.เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ขณะนี้ ได้ดำเนินการครบทั้ง 60 ผลิตภัณฑ์แล้ว และอยู่ระหว่างการนำผลิตภัณฑ์เข้าทดสอบการฉายรังสี ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นที่มีอัตลักษณ์ และมีศักยภาพทางการตลาด สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคสูงสุด จะได้รับการคัดเลือกให้เป็น “Product Champion” ของภาคเหนือ โดยผู้ชนะจะได้รับโล่ ใบประกาศนียบัตร และเงินรางวัลจำนวน 10,000 บาท จาก สทน. อีกด้วย


                สำหรับโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่น ด้วยการฉายรังสี ในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นการดำเนินโครงการฯ ต่อเนื่องเป็นปีที่สาม ต่อจากการดำเนินงานในพื้นที่ภาคกลาง และภาคใต้ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นด้วยการใช้เทคโนโลยีการฉายรังสีให้เป็นที่รู้จัก เป็นที่ยอมรับ และมีการใช้ประโยชน์แพร่หลายมากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้ได้ “อาหารพื้นถิ่น” ที่มีคุณภาพ ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค อันจะส่งผลให้อาหารพื้นถิ่นไทยในแต่ละภาคก้าวไกลสู่เวทีโลก พร้อมช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคเศรษฐกิจไทยต่อไป