ส้มโอฉายรังสีของไทย พร้อมส่งออกไปอเมริกาครั้งแรกมีนาคม
66
งานบริการตรวจสอบสุขภาพสัตว์และพืช
ภายใต้กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา หรือ United States Department of
Agriculture-Animal and Plant Health Inspection Service (USDA-APHIS) อนุญาตการนำเข้าส้มโอสดจากประเทศไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ในเงื่อนไขที่ต้องได้รับการฉายรังสีแกมมาในปริมาณอย่างน้อยที่สุด
400 เกรย์
ดร.หาญณรงค์ ฉ่ำทรัพย์ รองผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ได้เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้สนับสนุนงบประมาณให้ทำการศึกษาเพื่อให้ประเทศไทยสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตร และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกร จากการวิจัยส้มโอมากกว่า 30 ชนิดที่ปลูกในประเทศไทยนั้น พันธุ์ส้มโอที่ได้รับความนิยมของผู้บริโภคสูงสุด 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ทองดีซึ่งมีเปลือกเขียว เนื้อชมพู และมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ พันธุ์ขาวน้ำผึ้งซึ่งมีเนื้อสีน้ำผึ้ง และเปลือกที่ปอกง่าย และพันธุ์ทับทิมสยามซึ่งมีเนื้อสีแดงและรูปร่างคล้ายกับลูกชมพู่
ในส่วนของ สทน.ซึ่งเป็นหน่วยงานของที่วิจัยและใช้ประโยชน์จากการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ตลอดจนมีศูนย์ฉายรังสีเพื่อให้บริการฉายรังสีอาหารและผลิตผลทางการเกษตร นักวิจัย สทน.และร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ทำการศึกษาเพื่อปรับตัวแปรก่อนและหลังการฉายรังสีให้มีความเหมาะสม ตัวแปรดังกล่าว เช่น ระยะการโตเต็มที่ของส้มโอ เวลาระหว่างการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม ก่อนการนำมาฉายรังสี และอุณหภูมิการเก็บรักษาส้มโอ และการประเมินปริมาณรังสีที่เหมาะสมในการฉายรังสีส้มโออยู่ในปริมาณไม่น้อยกว่า 400 เกรย์ ซึ่งความสำเร็จนี้ สทน. ได้นำเสนอเกี่ยวกับส้มโอฉายรังสีให้กับสื่อมวลชนและผู้เข้าร่วมการประชุม First International Phytosanitary Irradiation Forum ได้ทราบข้อมูล ซึ่งเวทีดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างการประชุม International Meeting on Radiation Processing (IMRP20) ณ กรุงเทพมหานครในช่วงต้อนเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
โดยส้มโอไทยจะถูกส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาครั้งแรก
และจะนำไปจัดแสดงที่งาน Natural Products Expo West ซึ่งจะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 9 – 11 มีนาคม 2566 ณ
นครแอนะไฮม์ รัฐแคลิฟอร์เนียด้วย